วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

ทัวร์เป็ดน้อย...ตอนทัวร์หลอกแม่

ทัวร์เป็ดน้อย….. ตอนทัวร์หลอกแม่

หลังจากชาวเป็ดน้อยกลับจากเที่ยวหัวหินเมื่อคาวก่อน สมาชิกใหม่อยากคุณเป้ก็ติดใจอย่างแรง เราเลยนัดกันเที่ยวยาวในช่วง long weekend เดือนตุลา เพราะเป็นช่วที่บรรดาครูบาอาจารย์ อย่างจารย์โบ้และครูใหญ่ จะได้หยุดพักผ่อน บวกกับหนิงมีนัดไม่ลงตัวกับบุพการี เลเปลี่ยนใจมาเที่ยวกับเพื่อนแทน เรานัดกันคร่าวๆว่าจะไป แพร่-น่าน เหตุ เพราะครั้งที่ทัวร์เป็ดน้อยครั้งแกเกิดขึ้น หนิงกับโบ้ ชวนกันไปดูไม้ท่ีแพร่ เพราะหนิงกำลังจะสร้างบ้าน และให้จารย์โบ้ช่วยออกแบบให้ จารย์โบ้บอกว่าไม้ถูกละจารย์บ้เองก็กำลังทำบ้านให้ลูกค้าและต้องการไม้อยู่ หนิงเลยชวนเพื่อนๆให้ไปเที่ยวด้วยกัน หลายคนไม่เคยไปแพร่-น่าน อาจเพราะ 2จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่จะต้องตั้งใจมากถึงจะไกัน ไม่ใช่แค่ทางผ่านอย่างหลายๆที่

สำหรับหนิงแล้ว 2จังหวัดนี้เคยผ่านมือมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะน่าน ถ้านับกันจริงๆ หนิงไปมา5ครั้งแล้ว หนิงชอบน่านเป็นพิเศษ เพราะความที่เป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากลายๆแห่ง น่านเป็นเมืองที่มีอดีตอย่างยาวนาน และมีธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อนหลายคนเคยไปกันบ้างอย่างใหญ่กับเล็ก ส่วน เป้ โต้ง อุ๊ โบ้ ยังไม่เคยไปเลย

คราวนี้ด้วยความที่แก็งค์ใหญ่ขึ้น หนิงมองว่าถ้าจะบรรทุก CRV ไปแบบทุกครั้ง คงยางแตก ยางระเบิดก่อนถึงที่หมายเป็นแน่ คิดดังนั้น หนิงเลยปรึกษาเล็ว่าเราควรเช่ารถกันไป เสียงส่วนใหญ่ตกลงตามนี้ ยิ่งเป้แล้ว ก็หน้าเห็ใจ เพราะคราวก่อนหนิงบังคับเป้ให้ไปนั่งเบียดสาวๆ ซึ่ป้ขายาวมาก เป็นเหตุให้นั่งไม่สะดวก นนี้หนิงเลยเป็นธุระจัดการเรื่องรถตู้ คราวนี้หนิงโทรไปเชิญชวนครอบครัวพี่ตี๋กะคุณนายตุ๊กด้วย แต่ด้วยความที่ต้องไปหลายวัน คุณนายเธอเลยปฏิเสธ พี่ตี๋เองก็ไปไม่ได้ ไม่งั้นบ้านคงแตก เราเลยลงตัวที่7คน มีหนิง อุ๊ ใหญ่ เล็ก เป้ โต้ง และโบ้

เรานัดกันว่าจะออกจากรุงเทพวันที่ 22เย็น เพื่อน จะได้ไม่ต้องลางานแล้วกลับวันที่25เย็น เราก็ได้เที่ยว 3วันเต็ม เพื่อนๆเห็นด้วย ถึงแม้ว่าเป้จะเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวสเปนกับน้องขวัญ เป้ก็ไม่ยี่หระที่จะมากับเรา ล้วแดงซึ่งต้องจัดนิทรรศการวันที่22พอดี ก็ยอมเลื่อนงานให้ เพราะคุณเป้ต้องแสดงงานภาพถ่ายให้แดงด้วย

พูดเรื่องรถตู้ หนิงก็พอจะรู้จักคนขับดีๆบ้าง แต่ถ้านิงต้องเช่ารถจากพี่เขา ภาพพจน์ดีๆที่หนิงเพียรสะสมมา(ในสายตา คนขับรถ) ก็จะมลายหายสิ้น เมื่อหนิงต้องไปรวมตัวกับบรรดาเพื่อนเป็ดๆแก็งค์นี้ คิดดังนั้นแล้ว หนิงเลยจัดแจง โทรสายตรงไชียงใหม่ ถามน้องชายสุดที่รักว่า ช่วงตุลามีงานไหม พี่นะมีงานให้

น้องชายตัวดีรีบบอกว่าว่าง หนิงเลยจัดการล๊อคคิวน้องทันที พูดถึงน้องชายคนนี้หน่อย น้องคนนี้เป็นลูกน้า อยู่เชียงใหม่ เป็นคนเมืองแท้ๆ ชื่อกฤษฏา หรือโต้ง แต่หนิงมักจะเรียกว่าน้องแทนชื่อเล่น น้องเพิ่งจมาขับรถตู้ไม่นานมานี้เอง เจ้าน้องคนนี้เพื่อนหนิงหลายคนรู้จักตั้งแต่สมัยที่หนิงยังเรียนอยู่ศิลปากร ตอนนั้นพวกเราไปเรียน survey of art แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนกันมาก พอถึงเชียงใหม่ ก็เอาแต่เที่ยว ไม่ยอมไปกับอาจารย์ แถมยังขอให้น้าขับรถพาไปโน่น นี้ และเจ้ตัวดีนี้ก็มานั่งรถไปกับเรา พอหลายปีผ่านไป งานปีใหม่ปีหนึ่งที่บ้านหนิง เจ้าน้องตัวดีก็มานั่งกินเหล้า พอเาได้ที่ก็ทำวงแตก แต่เพื่อนๆหนิงก็จะขำเจ้าน้องคนนี้ เพราเจ้านี้มันออกแนวกะล่อนนิดๆ ขำหนักๆ ก็ฮาดี หนิงคิดว่าถ้าน้องขับรถ พี่จะบ้ายังไงเสีย ก็คงจะไม่กล้าประณามพี่มาก

นอกจากเรื่องที่เล่ามาแล้ว ยังมีเรื่องหนักใจอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของอุ๊ ตั้งแต่คราวเราไป เจ็ดเสมียน เพื่อนอุ๊ก็มีอาการอยากเที่ยวกับเพื่อนมากๆ คราวนี้เราไม่พลาดที่จะชวนอุ๊ เพราะอุ๊เองก็ไม่เคยไปน่าน หนิงออกแรงขายน่านแบบสุดกำลัง แล้วหนิงก็แอบเห็นแววตากบฎในดวงตาของอุ๊ หนิงรู้โดยสัญชาตณาณว่าคราวนี้อุ๊ ไม่พลาดแน่ แล้วหนิงก็สอบถามแผนการณ์ที่อุ๊วางไว้ อุ๊บอกว่าเดี๋ยวบอกแม่ก่อนจะมาสัก 2-3วันเขก็ต้องยอม แต่อุ๊ก็เผื่อผนสำรองว่าถ้าอุ๊ไปไม่ได้ยังไงอุ๊ก็จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องรถด้วย แต่หนิงไม่เห็นด้วยหรอก เพราะอยากให้อุ๊มาด้วยกันมากกว่า จะลักพาอุ๊ออกจากบ้านก็ได้ ถ้าเจ้าตัวยินยอม

แผนการณ์ต่างๆถูกเตรียมไว้ เล็กจัดแจงหาที่พักที่น่าได้ 1คืนใราคาพิเศษ หนิงจัดการเรื่องรถ และที่พักคืนแรก ทุกอย่างลงตัว หนิงเช็คเพื่อนๆ ทุกคนโอเค พร้อม แถมเพื่อนโต้งยังขอพกน้องสุดสวาท สมปุ้มไปด้วย โดเพื่อนๆยินดีต้อนรับ

เมื่อทุกอย่างลงตัว แลในที่สุดเวลาที่นัดหมายก็มาถึง แต่ที่แน่ๆ รื่องเวลาเป็นอะไรที่ไม่เคยลงตัวสักครั้ง หนิงตั้งใจจะให้ออกโดยเร็วเพื่อจะได้ตีรถไปนอนแพร่เลย แต่คุณเพื่อนที่รักแต่ละคนก็มีเหตุเสมอ หนนี้เริ่มจากเล็ก เล็กต้องขัรถไปรับใหญ่ที่พระราม2 แต่ที่ทำงานใหม่ของเล็กอยู่สาธร ไม่มีใครรู้ว่าเล็กคิดอะไร มารู้กันอีกที เล็กก็ไปโผล่แถวๆสุขุมวิท แล้วพยายามหาทางกลับ เล็กเองก็หัวเสีย เพราะศุกร์นั้นเป็นศุกร์ที่รถติดมาก ผู้คนต่างมุ่งหน้าออกต่างจังหวัดเหมือนๆกับเรา หนิงได้รับโทรศัพท์จากใหญ่ว่าเล็กรมณ์เสียอยู่บนถนน คงมาช้าหน่อย เสียงใหญ่ไม่สู้ดีนัก หนิงได้แต่บอกว่าไม่เป็นไร ยังไงก็รอ ยังไม่มีใครมา

เวลานัด1ทุ่ม คนที่รักษาเวลาที่สุดคืออุ๊ อุ๊ออกจากราชบุรีราวๆ4โมงเย็น แล้วเอารถไปจอดที่บ้านแถวปิ่เกล้า ก่อนหน้าจะเดินทาง 2วัน หนิงได้ยินว่าอุ๊จะหักดิบหนีแม่เที่ยว โดยจะหนีออกจากบ้าน เป็นที่ขำขันสำหรับพวกเรา พวกเราแอบขำที่อุ๊ใจแตก เมื่ออุ๊มาถึงบ้านหนิง แล้วพบว่ายัไม่มีใครปรากฏตัว อุ๊แอบบ่นนิดๆว่าถ้าพวกมันจะสายก็น่าจะโทรบอกกันหน่อย แต่สำหรับหนิงนะ รู้อยู่แล้วว่าหนนี้ ไม่ใครก็ใคร แต่หมายหัวต้งไว้มากกว่า

มาถึงโต้ง หนนี้โต้งทำเวลาดีกว่าทุกครั้ง คือไม่ได้มาคนสุดท้าย อาจเป็นเพราะมีสมปุ้มมาด้วย แล้วอย่างเคย หนิงบอกเวลาโต้งเร็วกว่าคนอื่นๆไปครึ่งชั่วโมง โต้งมาถึงบ้านหนิงพร้อมๆกับจารย์โบ้

โต้งเอง ก่นหน้าก็โทรคุยกับหนิง โต้งบอกว่าจะบอกแม่ว่าไปราชบุรี เพาะกลัวว่าถ้าบอกว่าไปแพร่แล้วแม่จะห่วง เพราะช่วงนี้ข่าวน้ำท่วมมาแรง

พวกเราขำมากที่โต้งมีแผนการณ์อย่างนั้น เพราะโต้งเป็นผู้ชาย หนิงเองเอาเรื่องนี้คุยเล่นกับที่บ้าน น้องชายตัวดีมันถมว่า อายุเท่าไหร่กันแล้วนี้ ยังต้องหลอกแม่เที่ยวอีก

ส่วนเป้ อนแรกใครๆก็คิดว่าเป้ไม่กลมแน่ (เบี้ยว) เพราะเพิ่งกลับจาก สเปน เป้เองโทรมาถามหนิงว่า ค่าเดินทางทั้งหมด ตกเท่าไหร่ หนิงบอกคร่าวๆว่าไม่เกิน 5000บาท เป้เลยโอเค เพราะเป้บอกว่าหมดตูดกับการไปเที่ยวยุโรปแล้ว

เพื่อนเริ่มมากันเรื่อยๆ พวกที่มาก่อนก็หาของกินรท้อง หนิงเห็นว่าออกช้ากว่าที่กำหนด (แต่จริงๆ ตามเวลาที่ตั้งใจไว้เลย) เลยบอกว่าไม่แวะ กินข้าวต้มที่นครสวรรค์แล้วนะ เพราะเดี๋ยวไม่ถึงแพร่ ทุกคนตกลงพร้อมกัน ในที่สุดเป้ ใหญ่ เล็ก ก็มาถึงพร้อมกัน ดูเหมือนทุกคนจะช่วยกันไปปลอบเล็กให้หายเครียดจากการหลงทาง เล็กเองพอได้กิน ได้อาบน้ำ ก็อารมณ์ดีขึ้น

ใหญ่มาเล่าให้ฟังขำๆว่า ตอนที่นั่งรถมากับเล็ก ใหญ่ต้องป้อนข้าวเล็ก จนรถคันข้างๆมอง เล็กมันเลยอายบอกว่าพอแล้ว แฝดคู่นี้มันรักกันจริงๆ

ล้อรถเคลื่อนออกจากบ้านหนิง 4ทุ่ม หนิงคำนวณเวลาในใจ ก็บอกเพื่อนๆว่า ถึงแพร่ ตี3 ให้เพื่อนๆ นอนไปได้เลย แต่จริงๆ หนิงเองก็กลัวว่าถ้าคนออกกันากๆ ตี 3จะไม่ถึงเอา แถมน้องชายก็ต้องนอนพัก วัรุ่งขึ้นไม่น่าจะออกได้เร็ว แต่ยังไงเสียก็เปลี่ยนแผนเอาระหว่างทางแล้วกัน

รถมุ่งหน้าออกสู่ถนนสายเอเชียมุ่งตรงนครสวรรค์ รถวันนี้ถือว่าน้อยกว่าที่คิดไว้เยอะ อาจเพราะดึกแล้ว กับอีกอย่างข่าวน้ำท่วมมาแรงมากช่วงสัปคาห์ที่ผ่านมา ช่วงๆแรกๆ ในรถยังเสียงดังเฮฮากัอยู่ และtopicที่เราคุยกัน คือเรื่องที่อุ๊บอกแม่ว่าไง อุ๊เฉลยให้พวกเรารู้ว่า การเป็นลูกที่ดี จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตดีขึ้น อุ๊บอกความจริงกัม่ทุกประการ ว่าจะไป แพร่ น่านกับเพื่อน แต่ที่เหนือความคาดหมายกว่าเรื่องอุ๊คือ โต้งบอกแม่ว่าไปเที่ยวราชบุรี ส่วนเป้ บอกแม่ว่าไปออกทริปถ่ายรูปกัสมาคมถ่ายรูป และโบ้ บอกแม่ว่าจะไปดูไม้ที่แพร่ ญ่ เล็ก ไม่แจ้งให้แม่ทราบ เออเอากับพวกเขาสิ อายุอานามก็ปาจะเข้าเลข4กันแล้ว แต่พฤติกรรมเหมือนเด็กๆหนีเที่ยวไม่มีผิด

เรานั่งหลับๆตื่นๆ ช่วงที่ผ่านนครสวรรค์ใช้เวลานานมาก เพราะมีหลายไฟแดง ตอนนั้นหนิงตัดสินใจบอกน้องชายว่าไปหาที่นอนที่พิษณุโลกดีกว่า เพราะดูจากเวลา ตี3ก็ไม่ถึงแพร่แน่ๆ ตกลงดังนั้นกับน้อง หนิงก็จัดแจงแจ้งให้ลูกทัวร์ทราบ ทุกคนไม่มีปัญหา ระหว่างทางเราเจอฝนในบางช่วง บางช่วงตกแรงและมีอุบัติเหตุนิดหน่อย บางช่วงก็ไม่มีฝน เรามองหาน้ำข้างทาง หวังจะเห็น แต่ก็ไม่เจอ แต่หนิงได้ยินน้องบอกว่าที่นครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาปริมริมตลิ่งทีเดียว อุ๊ถามก่อนจมาว่าถ้าเจอน้ำท่วมทำไง หนิงก็บอกว่าไม่ทำไง ก็เปลี่ยนเส้นทาง ถ้าเที่ยวไม่ได้ ก็กลับบ้านเท่านั้นเอง

เรามาถึงพิษณุโลกตอนตี 2 หนิงบอกให้น้องขับรถหาโรงแรม เจ้าน้องตัวดีบอกเดี๋ยวพาไปนอนโรงแรมพิษณุโลก ส่วนเป้เพ้อหาแต่โรงแรมผีสิง เราแวะไปดู 2-3ที่แล้วตัดสินใจเลือกท่ีแรกที่เราผ่านชื่อ Jasmin Resort เพราะดูสะอาดสุด พนักงานโรงแรมก็ดีใจหาย ยอมให้นอนเบียดห้องละ 3คน โดยไม่คิดตังค์เพิ่ม เราแบ่งห้องโดยแฝดนอนกับอุ๊ โต้ง สมปุ้ม โบ้ นอนด้วยกัน ส่วนหนิงกับน้องนอนกับเป้

หนิงแอบขำโบ้ เพราะโบ้จะไม่ชอบนอนตรงกับปรตู โบ้บอกนอไม่หลับถ้านอนแล้วเห็นประตูจะนอนไม่หลับ คืนนั้นแต่ละห้องตกลงกันเองว่าใครจะนอนพื้น แต่ที่แน่ๆห้องจารย์โบ้ คนนอนพื้นคือโต้ง ที่เสียสละให้โบ้นอนเตียง ไม่งั้นจารย์โบ้ต้องนอนเห็นประตู ไม่ต้องหลับต้องนอนกันพอดี

เช้าวันเสาร์ที่23 ฝนตกพร่ำๆยามเช้า ทำให้พวกเราหวั่นๆ กลัวว่าการออกทริปหนนี้จะกร่อย พวกเราทยอยตื่น เรานัดกัน 8โมงเช้า จะได้ไม่สายมาก เพื่อนๆตรงเวลกันดี เช้านี้เราได้ยินมาว่ามีโจ๊กอร่อยในเมือง อยู่แถวๆ สถานีรถไฟ ใกล้โรงแรมอัมรินทร์นคร เรามุ่งหน้าไปกันทันที ร้านนี้เป็นห้องแถวคูหาเดียว ตอนที่รถเราผ่าน คนยังไม่เยอะ แต่พอเราเดินเขาร้าน คนมาจากไหนไม่รู้ ทำให้เราไม่มีที่นั่งเลย เรารอสักพักก้ได้โต๊ะ เราสั่งโจ๊กกันคนละชาม หนิงกะโบ้ ต้องกินโจ๊กเปล่า เพราะดันทานอาหารมังสวิรัตกันวันนั้นพอดี

เนื้อโจ๊กไม่ได้ละเอียดเหมือนโจ๊กในเมือง บางคนบอกว่าเขาเอาจมูกข้าวมาท แต่หนิงกลับเห็นว่าเขาคงบดข้าวไม่ละเอียดมากกว่า เพราะตอนเด็กๆ แม่เคยทำให้กิน แล้วพวกเราโวยว่าแม่ทำข้าวต้ม แต่แท้ที่จริงแล้ว แม่บดข้าวไม่ละเอียดต่างหาก

หลังทานโจ๊ก เราออกเดินทางมุ่งหน้าไปแพร่ทันที แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองดี เล็กก็บอกว่าลืมเสื้อหนาวไว้ที่โรงแรม ขอกลับไปเอาด่วน รถหมุนกลับไปทางเดิม หนิงเองนึกในใจว่าดีเหมือนกัน จะได้ชวนกันไหว้พระก่อนออกเดินทาง ซึ่งเพื่อนเองก็อยากอยู่แล้ว เล็กกลับไปเอาเสื้อโดยไม่เสียเวลามาก เพราะใหญ่เก็บเบอร์โทรโรงแรมไว้ แล้วเล็กจัดการโทรไปบอกเขาก่อน หลังจากนั้นเรามุ่งหน้าไปวัดใหญ่ เพื่อไหว้พระพุทธชินราช

วัดใหญ่ที่เราเรียกกันมีอีกชื่อที่เป็นทางการว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ไม่ปรากฎว่สร้างขึ้นในสมัยใด เพียงแต่สร้างก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นวัดอารามหลวงมาแต่เดิม เนื่องจากเจอหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญคือศิลาจารึก กล่าวว่า พ่อขุนศรีนาวนำถม ได้มาสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์ไว้

พระประธานในโบสถ์ที่นี้ ถ้าใครไม่รู้จักก็คงจะแย่มากๆ เพราะเป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมานาน และมีชื่อเสียงว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในประเทศไท พระพุทธชินราชนั้นเองที่เรากำลังพูดถึง พระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เป็นศิลปะสุโขทัย มีพระวรกายอ่อนช้อย พระโขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฎาติแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์4นิ้ว ยาวเสมอกันในลักษณะปางมารวิชัย

พวกเราเข้าไปสักการะบูชา ผู้คนเนื่องแน่น เพราะช่วงที่เราเดินทางขึ้นไปน่าน ตรงกับวันออกพรรษาพอดี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนทยอยกันไปทอดกฐินกัน

นอกจากพระพุทธชินราชแล้ว เรายังไปสักการะ พระพุทธรูปปางที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน คือปางพระเจ้าเข้านิพพาน พระพุทธรูปปางนี้จะประดิษฐาอยู่ในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นวิหารทรงโรงสมัยอยุธยา

พระพุทธรูปปางนี้ เป็นปางที่พระพุทธเจ้าสำแดงพุทธปาฎิหาริย์ยื่นพระพุทธบาทออกมาให้ มหากัสสปเถระ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย

‘ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในรุ่งอรุณวันเพ็ญเดือน ๖ ขณะพระชนมยุได้ ๘๐ พรรษา ที่ใต้ต้นไม้สาละ คูเมืองกุสินารา มัลลกษัตริย์ แห่งกุสินารา ทรงจัดการพระพุทธสรีระ ห่อด้วยทุกูลพัสตร์ภูษาผ้าเนื้อดี ๕๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญลงหีบทอง ที่เต็มด้วยน้ำมันหอม และถวายพระเพลิงโดย มัลลษัตริย์ ๔ พระองค์ ชำระกายให้บริสุทธิ์ แต่งเครื่องทรงชุดใหม่ นำเพลิงเข้าไปจุดที่พระจิตกาธาทั้ง ๔ ทิศ ณ มกุฎพันธเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกของพระนคร แต่ไม่สามารถจุดติดได้ ทั้งๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

พระอนุรุทธเถระ จึงแจ้งให้มัลลกษัตริย์ทราบว่า “มหาบพิตร เทพยดาทั้งหลายมีความประสงค์จะรอคอยท่าน พระมหากัสสปะเถระ พระสาวกผู้ใหญ่ก่อน เพื่อให้ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา ถ้าพระมหากัสสปะเถระ ยังมิได้ถวายนมัสการตราบใด เพลิงจะจุไม่ติดตราบนั้น”

เมื่อพระมหากัสสปะเถระ มาถึงแล้วเข้าไปยังจิตกาธาน กระทำประทักษิณเวียนสามรอบ แล้วยืนอภิวาททางเบื้องพระบาท แล้วตั้งจิตอธิษฐาน กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระพุทธเจ้าผู้ชื่อว่า มหากัสสปะ เป็นสาวกที่พระพุทธองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศทางธุดงค์ในกาลเบื้องต้น พระพุทธองค์ประทาบรรพชาอุปสมบทให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วประทานเปลี่ยนผ้ามหาบังสุกุลที่ทรงพิจารณาจากศพนางปุณณทาสีให้ร่วมใช้ กับพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธเจ้า คือ กัสสปะเพียงผู้เดียวนี้ อนึ่ง คำกราบทูลของข้าพระองค์นี้ เป็นความสัตย์จริง ขอให้พระบาททั้งสองของพระองค์จงออกมาจากหีบทองรองรับการอภิวาทขอข้าพระบาท ในกาลบัดนี้เถิด”

สิ้นคำกราบทูลประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ทรงรับทราบคำกราบบังคมทูล ก็บันดาลพระบาททั้งคู่ ทำลายผ้าที่หุ้มห่อพระพุทธสรีระทั้ง ๕๐๐ ชั้น และทำลายหีบทองออกมาปรากฏภายนอกดุจดวงพระอาทิตย์ พ้นจากกลีบเมฆออกมาปรากฏอยู่ดูน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงเป็นที่มาของพระปานี้’

นอกจากพระปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพานที่วัดใหญ่แล้ว ในประเทศไทยยังมีอีกองค์อยู่ที่วัดท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่ อ.เมือง จ.พิจิต

เราได้รู้ตำนานคร่าวๆจากเป้ ซึ่งเพื่อนฝูงออกจะทึ่งกันทั่วหน้า เพราะเป็นเรื่องราวที่พวกเราไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากตำนานข้างต้น เรายังได้รู้วิธีการไหว้พระปางนี้ โดยผู้คนจะนิยม ไปไหว้ตรงที่พระพุทธบาทที่ยื่นออมาจากโลงเลย เขาว่ากันว่าขออะไรก็ได้ หนิงเลยขอให้ ชิวิตนี้มีแต่ความสุข สงบ ร่มเย็น

หลังจากนั้นเรายังไปไหว้หลวงพ่อดำ หรือ พระกินเณรอีก เหตุที่ชื่อว่าหลวงพ่อดำนั้น เป็นเพราะ เป็นพระพุทธรูปที่มีแต่การลงลัก ไม่ได้ปิดทอง ซึ่งก็ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมไม่ติด อาจเพราะรีบร้อนหรืออย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อดำเป็นพระสมัยสุโขทัยเหมือนกัน อีกชื่อที่เรียกว่า พระกินเณร เหตุที่มีชื่อเรียกอย่างนี้ เพราะครั้งนึงที่วัดมีเฌรมาบวชกันเยอะมาก และเณรเองก็ชอบหนีไปเที่ยวเล่น อยู่มาวันนึงฝนก็ตก เณรก็นีไปหลบอยู่หลังพระพุทธรูป โดยถอดจีวรวางเอาไว้ด้านหน้า คนที่เขาออกตามหาเณรเห็นแต่จีวร บวกกับลังคาที่ทาสีแดงมันโดนน้ำฝน สีจึงตกไหลลงมาที่โอษฐ์พระ คนก็เลยคิดว่าพระกินเณรเข้าไป จึงเป็นทีมาของชื่อนั้นเอง

เราสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันพอหอมปากหอมคอ เราก็มุ่งหน้าตรงไปยังแพร่ทันที

ช่วงสายของวันนั้นเหมือนพระพิรุณเป็นใจ เม็ดฝนเริ่เบาบางและจางไปในที่สุด น้องโต้งขับรถมุ่งหน้าเพื่อให้ไปได้ทานกลางวันกันที่แพร่ โดยพี่หนิงมีร้านในดวงใจเอาไว้ ร้านนี้หนิงทานเมื่อคราวมาปั่นออกทริปเมื่อต้นปี แต่ความโชคร้าย หนิงไม่ได้กินอะไรนอกจากไข่เจียว เพราะวันนั้นเป็นวันพระ ร้านที่ว่าชื่อร้านป้ามา อยู่ทางไปอำเภอลอง วันนี้ตั้งใจว่าจะพามิตรสหายทั้งลายไปกินกันหน่อย ร้านป้ามาจะเป็นอาหารพื้นเมืองทางเหนือ มีทั้ง ลาบ ลู่ หมก เพื่อนฝูงไม่มีใครปฏิเสธอันใด แต่ปรากฏว่า ร้านปิดคะ หนิงถึงกับมึน แล้วนี้เราจะกินอะไรละเนี้ย แต่ด้วยความที่น้องโต้ง เคยมทำงานที่แพร่ เลยพอจะรู้จักร้านอาหารบาง ตอนนั้นพวกเราเริ่มหิวกันแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะมีเสบียงไว้เพียบขนาดไห น้องโต้งขัรถลัดเลาะ เข้าซอยนั้นออกซอยนี้ จนมาถึงร้านแห่งนึง เป็นเพิงขายก๋วยเตี๋ยว ร้านนี้ดูๆไปก็งั้นๆ แต่คนท้องที่เดินเข้าร้านไม่ขาดสาย วกเราสั่งก๋วยเตี๋ยวมาคนละจาน มีแถมเป็นส้มตำก็มี หนิง โบ้จับมือกิน มาม่าใส่ผัก เป็นอาหารประจำมื้อ

เห็นเพื่อนๆว่าอร่อย อร่อย แต่ที่แน่ๆ หนิงเห็น 2โต้ง แยกไปนั่งอีกโต๊ะ ด้วยอาการสำรวม ที่ไหนได้ มีนางงามนั่งร่วมโต๊ะ เป็นที่อิจฉาตาร้อน ของเป้ กะโบ้ยิ่งนัก เพราะถ้า 2คนนี้เห็นแต่แรก คงวิ่งไปนั่งด้วยแน่ๆ

หลังอาหารเที่ยง หนิงจัดโปรแกรมเที่ยวในเมืองตมคำเรียกร้อง เพราะตอนที่น้องโต้งขับรถเข้าเมืองหาร้าให้พี่ๆ พี่ๆแอบเห็นว่าเมืองแพร่เป็นเมืองน่ารัก บ้านเรือนยังคงเป็นบ้านหลังเล็ก เก่าๆ ดูน่ารักดี เราขับผ่านวัดพระนอน ด้วยเห็นว่าวัดสวย พวกเราก็พร้อมใจกันลงไปถ่ายรูป ไหว้พระกัน หนิงส่งกระโปรงให้อุ๊ กับล็กใส่ เพราะกลัวว่าจะไม่สุภาพ เพราะเพื่อนทั้งสองคน นุ่งกางเกงขาสั้นกันมา พวกเราเข้าไปถ่ายรุปในโบสถ์ หนุ่มเป้ถึงกับไหว้พระและสลบไปในบัดดล เหตุพราะว่าอาการ jet lack ยังไม่หาย ราได้ยินเสียงใครคนนึงชวนเพื่อนๆว่า ‘ไปไหว้พระนอนกันเถอะแก’ และอีกเสียงที่รอดมาเข้าหูหนิงว่า ‘ พระนอนอยู่กุฏิไหน’ ไม่แน่ใจนักว่าเสียงคุณโต้ง หรือคุณโบ้ แต่ที่แน่ๆ เพื่อนคนอื่นๆ ก็ทั้งขำ ทั้งสรรเสริญเยินยอกับ สมองอันเฉียบคมนี้

ศิลปะของวัดที่นี้ เป็การผสมผสานระหว่าง เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา เดิมที พระนอนทำจากหิน ยาว 6ศอก แต่เนื่องจากเจ้าปู่ท้าวคำ ซึ่งเป็นอัยกาของเจ้าชัยชนะสงครามเห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงสั่งให้สร้างพระนอนองค์ใหญ่ครอบองค์เดิม ต่อมาเกิดศึกสงครมพม่าตีเมือง ผู้คนหนีจากเมือง พระเจ้าชัยชนะสงครามเห็นดังนั้ จึงสั่งพระนางพิมพาพระชายาให้สร้างพะต่อ แล้วตนเองก็ออกไปรบ จนสวรรคตในสนามรบ พระนางพิมพาจึงสร้างวัด เจดีย์ต่อจนเสร็จ แล้วจารึกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ให้มีการนมัสการไหว้สาในเดือนเก้าเหนือ ขึ้นสิบห้าค่ำ จึงถือเป็นวันนมัสการพระนอน

เราเดินชื่นชมจนอิ่มหน่ำ แล้วเราก็ออกเดินทางต่อ ไม่ไกลจากวัดพระนอ เราเห็นสี่แยกที่มีบ้านน่ารัก พวกเราเลยลงไปถ่ายรูปกันอย่างเมามัน ในขณะนั้นเอง หนิงกับโบ้ หันไปเห็นบ้านหลังหนึ่ง แบบเรือนปันหยา ตกแต่งลวดลายแบบขนมปังผิง สีชมพูหวานน่ารักมากๆ เราเห็นประตูรั้วเปิดกว้าง เราจึงแอบเดินเข้าไปดู บ้านได้รับการดูแลอย่างดี จนอดไม่ได้ว่าเป็นบ้านใคร มองไปข้างในตัวตึกเราเห็นคนเดินอยู่ข้างใน ที่สุด หนิงกับโบ้จึงรู้ว่าบ้านนี้เขาเปิดให้ชม เราเดินออกไปเรียกเพื่อนๆข้างนอกให้เข้ามาดูกัน

บ้านหลังนี้ชื่อว่า ‘บ้านวงศ์บุรี’ เป็นบ้านของทายาทเจ้าเมืองแพร่ เจ้าพรหมและเจ้าสุนันทา ห้องที่จัดแสดงถูกจัดไว้สวยงาม อนึ่งว่าเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ เครื่องเรือนต่างๆ เป็นเครื่องเรือนโบราณที่นำเข้าจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของเจ้าเมืองสมัยก่อนมาก

บ้านหลังนี้ เจ้าของปัจจุบัน ซึ่งเป็นทายาทยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนี้เช่นเดียวกัน ไกด์นำชมบ้านบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นสถานที่ถ่ายละครมาหลายเรื่องแล้วเหมือนกัน

เราออกจากบ้านวงศ์บุรี โดยแวะวัดที่อยู่ใกล้ๆกัน ชื่อวัดพงษ์สุนันท์ หรืชื่อเดิมว่าปงสนุก วัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อมีคนพบก็เรียกว่าวัดปงสนุก วัดแห่นี้ได้รับการบูรณะหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเกิดภัยพิบัติไม่ว่า จะเป็นไฟไหม้ หรือน้ำท่วมก็ตาม ครั้งสุดท้ายวิหารได้พังทลาย ซึ่งเกิจากน้ำท่วม หลวงพงษ์พิบูลย์(เจ้าพรหม) และเจ้าสุนันทา ก็ช่วยกันสร้างวิหารใหม่ และบูรณะวัดครั้งใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดพงษ์สุนันท์แทนชื่อเดิม

หลังจากนั้นพวกเราก็เดินเท้ากันต่อไปยังวัดหลวง วัดนี้ เราเดินโดยรอบ และถ่ายรุปกันมากกว่า โดยไม่ได้ข้าไปนมัสการพระประธานในโบสถ์แต่อย่างใด

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ มีวิหารหลวงพลนครเป็นโบราณสถานสำคัญ โดยมีพระเจ้าแสนคำ พระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ด้านใน

พวกเราเริ่มรู้สึกถึงความร้อนที่แผดเผาพวกเราเข้าให้แล้ว วัดนี้เราจึงไม่ได้ไปดูอะไรมากมาย แต่ก็เห็นพรกำลังเทศนาอยู่ในโบสถ์เพราะวันนี้เป็นวันพระ เราเดินออกมาขึ้นรถและต่อไปยังจวนผู้ว่า ก่อนจะมาแพร่ พ่อบอกว่า ที่แพร่มีบ้านผีสิงด้วย มีคพาพ่อไปดู แต่เท่าที่คุยกับแม่ บ้านที่พ่อกล่าวถึงน่าจะหมายถึงจวนผู้ว่ามากกว่า เพราะใต้ถุนบ้าน มีคุกนักโทษอยู่ด้วย เวลเดินเข้า เราต้องถอยหลังเข้า บ้านหลังนี้ดูไม่น่าตื้นเต้นเท่าบ้านวงศ์บุรี เพราะทีนี้ทำเหมือนพิพิธภัณฑ์มากกว่ บ้านเลยไม่มีชีวิตชีวา

พวกเราเริ่มต้นเดินในคุกก่อนเลยอย่างแรก เราถอยลังเข้า เพราะเป็นเคล็ด จะได้ไม่ต้องเข้าคุกจริงๆ ส่วนเป้ กลัวจัด เดินถอยหลังตั้งแต่เข้า จนอยู่ในคุกก็ยังถอยหลังไม่เลิก กลัวจะติดคุกอย่างหนัก ดีที่ไม่ถอยหลังออกอีก ไม่งั้นหันหน้าเข้าคุก็ได้เข้าคุกกันพอดี

หลังจากเราเดินเล่นจวนผู้ว่าเสร็จ หนิงบอกเพื่อนๆว่าเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราจำจะต้องออกเดินทางต่อไปยังน่านเลย เพราะที่พักเราอยู่นอกเมือง หนิงกลัวจะไปถึงดึก กลัวจะเป็นอันตราย

รถมุ่งหน้าสู่น่าน ระหว่างทางเป้เอ่ยปากอยากถ่ายรูปนาขึ้นมา เพราะโกหกแม่ไว้ว่ามาถ่ายรูปกับสมาคม ถ้ากลับบ้านไปมีแต่รูปเพื่อนๆกระโดดโลดเต้ เป้คงโดนแม่ตีเป็นแน่แท้

โชคดีที่ระหว่างทางมีนาเขียวขจีอยู่เยอะ แถวแพร่ น่านไม่โดนฝนหรือน้ำท่วม น้ำหลากเหมือนที่อื่นๆ ทุ่งนายังดูดี รอให้ร่วงข้าวที่เพิ่งออกเติบโต จนแก่เต็มที่ ชาวนาก็จะเกี่ยวข้าวเอามาให้พวกเราได้กินกัน เราลุยไปท้องนา ถึงขั้นลงไปในแปลงนาด้วยซ้ำ โดยไม่ได้ขอใครหรือ ถามใครใดๆทั้งสิ้น จริงๆแล้ว เราควรจะถามใครสักคนก่อน แต่เวลานั้น แสงแดดมันไม่คอยใคร แสงสีทอที่กำลังจะลับขอบฟ้า ไม่ค่อยท่า แสงเริ่มลดลงเรื่อยๆ พวกเราก็เร่งรีบถ่ายรูปกันก่อนแสงจะลับขอบฟ้า รูปที่ถ่ายกันวันนั้นประทับใจเราทุกคน แต่ที่ประทับใจเราที่สุด กลับเป็นชาวนา 2ผัวเมียที่มีกระต๊อบอยู่ตรงนั้น ออกมา พร้อมผลไม้1จาน ส่งให้พวกเราทานกัน ทั้งที่พวกเราไม่ได้ขออนุญาตสักนิด แต่น้ำใจที่คนชนบทมีนั้นมากมายมหาศาล เรารับผลม้คนละลูก อย่างประหลาดใจ ระคนกับความประทับใจ สุดท้ายก่อนจากกัน หนิงวิ่งเอาขนมเค้กไปแบ่งปั แต่ที่ทำให้หนิงตะลึ่งคือ ป้าพูดว่า “ เค้กญี่ปุ่นเหรอ” ทั้งที่หนิงยังไม่ได้ส่งให้เลย ป้ารู้ได้ไง หนิงเดินหนาวๆกลับรถ เล่าให้เพื่อนๆฟัง ทุกคนเลยอำว่ป้ารู้ เพราะมีอาค อ้าวแล้วผลไม้ที่กินเข้าไป ไม่ทำให้เราเป็นสมุนป้าไปกันหมดเหรอ เราหัวเราะเล่นกัน แต่สิ่งที่เราพบทำให้เราประทับใจกันมาก

เรามุ่งหน้าเข้าอำเภอปัวเลยเพราะที่พักที่เราได้อยู่ในปัว อำเภอปัวเป็นอำเภอที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน เพราะที่นี้ มีอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่นี้ เขาจสวย อากาศจะเย็นมากในฤดูหนาว ที่สำคัญ เขาจะมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อว่าต้นชมพูภูคา ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ต้นไม้ชนิดนี้ มีที่นี้ที่เดียวในประเศ และคาดว่าในโลกนี้ด้วย เป็นต้นไม้หายาก ลักษณะดอกจะสีชมพู ออกดอกเป็นช่อ ดอกคล้ายระฆังคว่ำ ออกช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม และยังมี ต้นเต่าร้างยักษ์

เรามาถึงปัวมืดแล้ว ระหว่างนั่งรถมาเราอดตื่นเต้นกัพระจันทร์ดวงโตที่ขึ้นจากสันเขาไม่ได้ เสียงวี๊ดว้ายดังลั่นรถ ถนนระหว่างอำเภอเมืองมาปัว ถือว่าสวยและดูธรรมชาติทีเดียว

ก่อนเข้าที่พักเราหาอาหารเย็นทานก่อน เราไปเจร้านริมถนนชื่อร้าน ดาวเงิน เป็นร้านเล็กๆ แต่อาหารอร่อย หรือเป็นเพราะเราหิวก้ไม่รู้ อาหารมาเป็นหมดทุกจาน จนสุดท้าย เจ้าของร้านทำส้มตำให้ทานกันฟรี พี่เจ้าของร้านออกมาคุยด้วย เราเลยรู้ว่าจริงๆแล้วเป็นตำรวจ แต่มาเปิดร้านอาหารด้วย

หลังจากอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ เราก็เข้าที่พัก ที่พักที่นี้เป็นของรุ่นพี่ที่มหาลัย สมัยก่อนจำได้ว่าโด่งดังมีชื่อมากเนื่องจากทิวทัศน์ที่มองเห็นเทือกเขาของอุทยานดอภูคา

แต่มาบัดนี้ สภาพต่างๆก็ร่วงโรย เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร แต่พวกเราก็อยู่กันได้ โดยนอนขวางเตียงกันเลยคราวนี้ ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน โดยไม่มีใครนอนพื้น เพราะมดเยอะาก คืนนั้น เป้ออกแรงแย่งห้องกับสาวๆ เพราะว่า เป้อยากนอนห้องกลาง เหตุมาจากฟังเรื่องผีกันในรถมา ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าแต่ละคนนะ กลัวผีขี้ขึ้นสมองกันทั้งนั้น

ไม่พอก่อนนอนน้องโต้งยังมีหน้ามาเล่าเรื่องผีให้พี่ๆฟัง เป็นผีผ้าม่าน พี่ๆตั้งหน้าตั้งตาฟังกัน ทั้งที่ก็นั่งรวมกันบนเตียง แต่ตอนจบเรื่องกลับตาละปัด เพราะไอ้น้องตัวดีมันบอกว่า “อู้ เล่น บ่ใจ้เฮื่องจริง วงแตก กลับห้องนอนกันเป็นแถว แต่วิบากกรรมหนิงยังไม่จบ กลับไปในห้อง อีน้องตัวดีนอนตรงกลางแถมเบียดมาทางด้านหนิงนอนอีก มันหันมาบอกว่า ให้ที่พี่เป้นอนเยอะหน่อย เพราะตัวใหญ่ แต่อีปี้นอนที่น้อยพอ กรรมองตูจริงๆ

เช้าวันถัดมา

เช้านี้พวกเราตื่นกันเช้า โดยเฉพาะฝาแฝดเล็ก ใหญ่ ตื่นมาสูดอากาศยามเช้า เราได้เห็นสภาพรอบๆที่พัก ยอมรับว่าถ้าได้รับการดูแลอย่างดี ก็จะสวยงามทีเดียว เราเริ่มทยอยกันอาบน้ำ เพื่อจะลงไปทานอาหารเช้าก่อนเดินทางเข้าเมือง วันนี้ามโปรแกรมที่หนิงวางไว้ เราจะต้องเข้าไปเที่ยวน่านและนอนที่น่านกัน

น่านหรือชื่อในพงศาวดารว่านันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีประวัติมายาวนาน มีวัดเก่าแก่และพระธาตุที่มีชื่อเสียงมาก เรื่องราวเกิดขึ้นมาตั้งแต่เป็นรัฐเล็กๆปกครองโดยพญาภูคา ตั้งแต่เป็นเมืองล่าง(ย่าง)

มาจนถึงยุคที่เมืองแพร่เข้าครอบครอง

เราทานอาหารเช้าที่โรงแรม แล้วออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าเข้าเมือง แต่ไม่ถึง 100เมตรเรา ก็ต้องหยุด เมื่อสาวๆเห็นร้านขายผ้า แถมมีผ้าไหมตากลอยละล่องปลิ้วไสว ชวนให้เราอยากลงไปถ่ายรูปกันสักนิด เราเฮโลกันมุดเข้าดงผ้าไหมหลากสี เหมือนปลาดำผุดดำว่ายนน้ำ เราถ่ายรูปกันอย่างเมามันส์ แล้วก็จบลงที่การ shopping ร้านพื้นเมืองอย่างนี้ ของที่ขายราคาไม่แพง สมราคา และเท่ากับเราได้อุดหนุนสินค้าท้องถิ่น รายได้เข้าสู่ชุมชนโดยตรง แล้วเราก็อดที่จะถามเจ้าของร้านไม่ได้เรื่องผ้าไหมหลากสีที่ตากอยู่ เจ้าของร้านบอกว่า เป็นตัวล่อเรียกลูกค้าเข้าร้าน และก็ได้ผลจริงๆแฮะ เพราะอย่างน้อยๆ แมลงเม่าอย่างเราก็บินเข้ากองไฟไปหลายตัวเลย เราเดินเล่นไปหลังร้านขายของที่ระลึก ก็เห็นเป็นศาลายื่นไปในทุ่งนา พอเดิไปดูก็เป็นร้านกาแฟแบบบริการตัวเอง น่ารักดี ถึงแม้กาแฟที่ว่าจะเป็นแบบช แต่บรรยากาศโดยรอเก๋ไก๋ไม่เบา เราถ่ายรูปอย่างเคย แดดเริ่มร้อน อากาศรอบตัวช่างต่างกับภาพที่เราถ่ายกันมานัก แดดเริ่มแรง ฟ้าที่มีเมฆปุกปุย กับทุ่งนาสีเขียวอมเหลืองของร่วงข้าว เราได้เวลาออกเดินทางจริงๆล้วสำหรับวันนี้

ชนบทเล็กๆที่กำลังจะเจริญเติบโต ถ้าไม่ดูแลกันดีๆ ปล่อยให้ทุนนิยมครอบงำไม่นาน ก็ไม่เหลือคุณค่าในตัวเอง ไม่ต่างกับเมืองใหญ่ ที่เหลือแต่ความเลวทรามทางสังคม ที่หลอกหลอนคนที่อาศัยอยู่ในใจกลาง

เรากำลังจกชนบทแห่งนี้ไป เราเดินทางไม่พ้นปัวสักที แล้วเราก็ไปแวะดูต้นไม้ดิกเดียม เป็นต้นไม้ที่เขาว่ากันว่ามันจะขยับเมื่อเราไปจักกะจี้มัน อุ๊บอกว่าเคยเห็นที่เมืองจีน

หนิงไปยืนทาถูทาถูอยู่นานก็ไม่เห็นมันจะขยับอะไร สงสัยว่าต้นมันใหญ่ไปหรือเปล่า หรือว่ามันตายด้าน ไรความรู้สึกไปแล้ว เพราะมีแต่ร่องรอยถูไถจนเนื้อไม้ลื่นมัน แล้วเราก็ไปต่อที่วัดต้นแหลง ซึ่งมีวิหารเก่าแก่ของชาวไทลื้อ วัดนี้สร้างในปี 2127 เป็นแบบไทลื้อ สิบสองปันนา วิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจาะช่องหน้าต่างด้านบ ไม่มากนัก เพื่อป้องกันอากาศหนาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาไทลื้อ

ดูเหมือนที่นี้ก็เป็นที่โปรดของหลายคน ได้ยินเสียงชื่นชมไม่หยุดหย่อน เราออกเดินทางต่อ วันนี้เพื่อนๆบอกเป้ว่าอย่าหลับในรถมาก เพราะเป้ยังไม่ฟื้นจากอาการ jet lack พวกเราแอบดูเป้ตลอด หลับตอนไหน เราก็เรียกเสียงดังๆให้ตื่น จะได้นอนกลางวันน้อย แล้วไปสลบเอาตอนกลางคืน

เรามาต่อกันที่วัดหนองบัว วัดนี้ขึ้นชื่อว่าจตรกรรมฝาผนังใกล้เคียงกับวัดภูมินทร์ในเมืองมาก คราวก่อนหนิงมาจะมีลุงมานั่งเล่น ซึง แต่มาวันนี้ลุงไม่อยู่ ได้ยินว่าลุงแกปลดเกษียณตัวเองไปแล้ว แต่เราก็ยังได้ยินเสียงแววมาจากด้านหลังวัด เดิไปดูก็เห็นลุงคนนึงนั่งเล่นซึงอยู่ จะใช่คนเดียวกันรึเปล่าหนิงก็ไม่แน่ใจ ด้านหลังวัดมีเรือนไทลื้อที่สร้างไว้ให้ดูกัน 1หลัง หนิงได้ยินมาว่าสมัยก่อน หมู่บ้านแถวนี้มีบ้านแบบนี้ทั้งนั้น แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความทันสมัยก้เข้ามาแทนที่ ทั้งที่จริงแล้ว บ้านทรงนั้นมีเอกลัษณ์มาก บ้านคล้ายๆกับไทลื้อที่หนิงเห็นที่เมืองจีนเลย

เราซื้อขอกินเล่นพื้นเมืองกิน อร่อยดี เดินไป เดินมา เจอน้องๆกลุ่มนึงกำลังถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม พี่เป้รีบเข้าไปคุยด้วยทันที เพราะสมัยนี้คน เล่นกล้องแบบนี้ลดน้อยลง เพราะเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และรวดเร็ว แต่การได้ถ่ายรูปที่บรรจงปรับแสง วัดแสง และต้องคอยลุ้นว่ารุปที่ได้ผลออกมาจะเป็นแบบไหน มันน่าอภิรมณ์มากกว่าสำหรับคนที่ชื่นชอบ เราผ่านวัดหนองบัวไปอย่างไม่รีบร้อน ที่ต่อไปคือหอศิลป์ริมน่า ที่นี้ใหญ่เรียกร้องจะมามาก พูดตั้งแต่ออกจากกรุงเทพ ไม่มาก็ไม่ได้ เพื่อนโกรธตาย หนิงเองได้แต่ผ่านไปมา 2ครั้2ครา คราวนี้ก็ได้เข้าซะที ที่นี้เป็นหอศิลป์เอกชน เก็บค่าเข้าราคาไม่กี่สิบบาท

ภายในหอศิลป์มีงานแสดงของศิลปิน ทั้งเจ้าของหอศิลป์เองและของคนอื่นๆ หลากหลายไป ที่นี้เขาทำเป็นตึก 2ชั้น เพดานสูง โล่ง หลังเราเสพงานศิลป์เสร็จ ก็มาชักภาพที่ระลึก จัดท่าจัดทาง จนคนถ่ายรูปถึงกับเอ่ยปากว่า “พวกมึงจะทำท่าไหน ก็ทำ” เพราะคงเบื่อเต็มทีว่าไอ้พวกนี้มันท่าเยอะ เจ้าของหอศิลป์เดินผ่าน ถึงกับอมยิ้ม เขาคงว่าไอ้พวกนี้แก่แล้วไม่รู้จักโตสักที

ที่นี้เราได้ห็นต้นงิ้ว ใหญ่มากๆ ใหญ่ขนาดหลายคนโอบ ไปยืนมองใกล้ๆ หนามที่ต้นใหญ่ขนาดว่า ถ้าต้องปีนต้นงิ้ว ก็เหยียบหนามปีนได้สบาย มิน่าเล่าเขาถึงให้พวกเล่นชู้ปีนต้นงิ้ว เพราะมันดูทั้งน่ากลัว ถ้าตกต้นงิ้ว และมันก็คงจะไม่ยากถ้าจะปีนขึ้นไป แยบยลจริงๆ คนโบราณ

เราออกจากหอศิลป์ทั้งที่เลยเวลากลางวันแล้ว หนิงบอกเพื่อนๆว่าจะพาไปกินข้าวซอย ร้านนี้อยู่ใกล้กับพิพิธภณฑ์ เมืองน่าน และใกล้กับวันภูมินทร์ เพื่อนๆ enjoyกันมากกับอาหารกลางวัน เพราะเลยเวลามาโข

ที่หน้าร้านข้าวซอยมีกระจกเล็กๆติดอยู่ พวกเราก็สงสัยว่าทำไม เจ้าของร้านบอกว่าเอาไว้ให้ลูกค้าส่องกระจกก่อนออกจากร้าน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ จารย์โบ้บอกว่า ติดไว้ เพราะร้านฝังตรงข้าม เป็นร้านข้าวซอยเหมือนกัน เรียกว่าเป็นการแก้เคล็ด แต่เห็นจะจริง เพราะฝั่งตรงข้ามไม่มีคนเข้าเลย โบ้ยังบอกอีกว่ ถ้าให้ดี ให้เอาลิ้นชักเก็บเงิน ตั้งให้ตรงกันร้านตรงข้าม เพราะจะทำให้เงินเข้าร้านเรา เอาสิ เอากับจารย์โบ้ไสยศาสตร์ตลอด

เราออกเดินเท้าหลังจากเสร็จจากทานอาหาร ไม่ไกนัก แค่ข้ามถนนมาอีกฝั่งก็ถึงพิพิธภัณฑ์แล้ว พิพิธภัณฑ์เป็นตึกใหญ่ 2ชั้น ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นของยุคสมัยที่น่านยังเป็นเมืองที่ปกครองตัวเอง และอีกหลายยุคต่อมา แต่ที่พวกเราสะดุดตาเลยคือ ตั่งไม้สักขนาดใหญ่มาก กว้าง 4-5เมตรเห็นจะได้ ที่ว่าสะดุดตาก็เพราะความใหญ่ของมันเนี้ยละ เจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นไม้ที่ยึดมาได้จากการตัดป่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยความใหญ่ พวกเราก็คะเนกันว่า ต้นสักนี้น่าจะมีอายุหลายร้อยปี จนเจ้าหน้าที่ว่าน่าจะเป็น 800-1000ปีเห็นจะได้ เป็นที่หน้าเสียดายมากสำหรับไม้ใหญ่ขนาดนี้

นอกจากนั้น เรายังได้ดูงาดำ คู่บ้านคู่เมืองของน่าน งาดำนี้ เดิมมีเป็นคู่ อยู่ที่เชียงตุง แต่ได้มีการแยกคู่ แล้วให้กับเมืองน่านไว้1ข้าง เรื่องราวที่เป็นตำนานมีอยู่หลายเรื่อง

ที่น่าสนใจคือ เรื่องหนึ่งกล่าวว่า น่านได้บุกไปล้อมเมืองเชียงตุง เดือดร้อนชาวเมืองจนเจ้าเมือง ต้องหาโหรมาตรวจชะต โหรว่าเป็นเพราะงาดำคู่นี้ เราควรจะแยกงาแล้วมอบให้ น่านไปข้างหนึ่ง เมื่อได้ยินอย่างนั้น เจ้าเมืองก็ยินยอม และยกงาดำให้แกเจ้าเมืองน่านไปข้างหนึ่ง

พวกเราเดินจนครบ ก็ย้ายไปฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ คือวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีเจดีย์ช้างค้ำ โดดเด่นสะดุดตา เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย โดยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใ เราเข้าไปกราบพระในบ่ายวันนั้น เพราะหนีความร้อนภายนอกที่ทำให้พวกเราแทบแย่ไปตามๆกัน มันช่างไม่เหมือนที่คาดไว้เลยว่าจะได้เจอหนาว แต่เรามา2วันแล้ว ร้อนเหลือเกิน ดีที่ฝนไม่ตกเทลงมาด้วย

พวกเราย้ายขบวนกันไปต่อที่วัดภูมินทร์ ที่วัดนี้ เราได้ ไกด์ท้องถิ่น เป็นหนุ่มน้อย สาวน้อยมาอธิบายเรื่องราวให้เล่าฟัง ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของที่นี้ เป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม ต่สิ่งที่ประทับใจพวกเราเป็นที่สุด เห็นจะเป็นข้อความที่ ปู่ม่าน กระซิบบอกย่าม่าน ด้วยสำเนียงเสียงท้องถิ่นของน้องๆที่เอ่ยเล่าให้พวกเราฟัง

“ ทำฮักของปี้นี้ กูปี้จักฝากไว้ในน้ำก็กลั๋วหนาว

กูปี้จักฝากไว้บนปื๋นฟ้ากลางหาว ก็เกรงว่า เมฆหมอกจะซอน ดาวไปเสีย

จักฝากไว้กลางข่วงคุ้ม เจ้าเมืองปะใส่ก็จะลู่เอาของพี่ไป

ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ของจายปี๋นี้ ฮือมันไห้อะฮิ อะฮิ ยามหลับแลสะดุ้งตื่นเววา”

ออกจากวัดภูมินทร์ เรามุ่งหน้าตรงไปพระธาตุแช่แห้ง เพราะเป็นที่สำคัญที่มาน่านแล้ว ต้องมาที่นี้กันทีเดียว เพราะเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีเถาะ พระธาตุแช่แห้งจัดเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองน่าน 3กิโลเมตร แต่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เนื่องจากสร้างอยู่บน ดอยภูเพียงแช่แห้ง พระธาตุที่มาประดิษฐานที่นี้มาจากสุโขทัย ตามตำนาน พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาสรงน้ำในบริเวณนี้ แล้วทรงเสวยผลสมอแห้ง แต่ด้วยว่าลูกสมอแห้งมาก พระองค์เลยนำไปแช่น้ำ และทำนายว่า ณที่นี้ จะได้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

จารย์โบ้ได้ทำการเช่าพระระจำพระธาตุไปฝากพ่อ แม่พี่น้องที่บ้านด้วย นัยว่าน้องชายกะแม่เกิดปีนี้ ช่างเป็นลูกกตัญญูอะไรเช่นนี้ เราออกจากพระธาตุเย็นมากแล้ว และพวกเราก็ยังไม่มีที่นอนเลยสำหรับคืนนี้ เราให้น้องขับรถไปหา guest house แต่ด้วยว่าเรามาช่วง long weeked บวกกับชาวจุฬามาออกงานที่น่าน ที่พักเลยเต็มไปหลายที่ ราเข้าไปดูหลายที่ ที่โดนๆใจเราอย่างไผ่เหลืองก็เต็มซะอีก แต่ในที่สุดก็มาได้บ้านเรือไทย สะอาด 2หลัง ในราคาที่จัดว่าถูก ที่ริมสวยเพลส พวกเรารีบตะครุบ ถึงแม้คืนนี้จะได้แค่ 2ห้อง หนิงกับน้องมานอนรวมกับอุ๊ ใญ่ เล็ก ส่วนผู้ชายนอนด้วยกัน รวมสมปุ้มไปด้วย เป็นอันลงตัว หลังจากเราได้บ้านพัก เราออกไปเดินหาของทาน ช่วงที่เรามาเป็นช่วงที่น่านมีจัดแข่งเรือยาวพอดี แต่เราไม่มีโอกาสได้ดูชม เราเลยมาเดินเที่ยวงาน เหมือนงานกาชาดอะไรประมาณนั้น มีของกิน ข้าวของขาย

คืนนั้น เรากลับไปนอนแบบหมดลาน หนิงได้ยินว่าโบ้ต้องนอนพื้นข้างเตียง แต่ด้วยความกลัวผี โบ้ถึงกับต้องเอาผ้ามาปิดร่องใต้เตียง

เหลืออีกแค่ วันเดียวเท่านั้นที่เราจะต้องล่องลงกรุงเทพมหานคร เมืองที่พวกเราจากมา

วันรุ่งขึ้น

พวกเราเริ่มทยอยกันอาบน้ำ หลังจากงัวเงียขยี้ตาตื่นนอนขึ้นมา สาวๆทำธุระกันก่อน แล้วพวกเราก็ส่งตัวแทนไปเคาะห้องหนุ่มๆเป็นระยะ

เมื่อทุกอย่างพร้อมออกเดินทาง เราก็ไปเริ่มต้นวันใหม่ที่ร้านข้าวซอยเมื่อวาน เป้ว่าข้าวกับน่องไก่ตุ่นอร่อยนักหนา เราอำลาเมืองน่านก่อนจะแดดแรงกว่านั้น วันนี้ความร้อนก็ยังคงล้อมรอบตัวเรา เราได้แต่มองฟ้า อ้า ปาก และว่า ทำไมไม่เห็นจะหนาวเลย แถมความเซ็งไปตามๆกัน

รถเคลื่อนตัวออกจากน่านมุ่งหน้ากลับสู่แพร่ วันนี้เราจะเก็บสถานที่ที่ยังไม่ได้ไปที่แพร่ ที่สำคัญก็พระธาตุช่อแฮ ซึ่งคุณโต้งอยากมามาก เพราะโต้งเกิดปีขาล ประจำปีเกิดโต้งเลย และน้องกฤษฎาก็นำเสนอ พระธาตุปูแจ น้องว่า สวยขนาด เราก็ให้น้องจัดไป เพราะอย่างน้อย น้องก้เคยมาใช้ชีวิตที่นี้ครั้งหนึ่ง

เส้นทางขากลับวันนี้ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ถนนยังเป็น สองเลน ต้นไม้เลยใหญ่พอที่จะให้ร่มเงามาถึงถนน เส้นทาง เวียงสา-ร้องกวางเป็นช่วงที่ต้นไม้เยอะ และโค้งเยอะ พวกนักบิดทั้งหลายชอบนักแล ส่วนพวกที่แพ้ทางโค้ง ก็ถึงกับ อ้วกแตกกันนักแล

น้องขับพาเรามาจนใกล้จะถึงเมือง น้องก็จัดการแวะแพะเมืองผีให้พวกพี่ๆไปเดินเล่นออกกำลังกายกัน แพะเมืองผีเป็นการพังทลายของพื้นดิน โดยธรรมชาติ จากการกัดเซาะของน้ำเป็นเวลานาน มีเรื่องราวตำนานของชื่อเรียกนี้ด้วย ว่ากันว่าสมัยก่อน มียายคนนึงมาเจอหลุมเงินหลุมทองบริเวณนี้ แ้วยาย ก็พยายามที่จะเอาเงินทองใส่หาบออกไป แต่ก็เดินหลงทาง ยายพยามยามทุกวิถีทางทั้งตัดไม้มาทำคานหาบออกไป แต่ก้ไม่สำเร็จ ยายเลยวางหาบแล้วออกจากป่านั้นไปเพื่อไปบอกชาวบ้าน แต่พอมาถึงหาบ ทองก็หายไป ยายและชาวบ้านเลยเดินตามรอยเท้ามาเรื่อยๆ จนมาหยุดที่เสาเมโร(เสารูป หรือปราสาทศพคนตายทางภาคเหนือ) โดยไม่พบร่องรอยอื่นใดอีก ชาวบ้านเลยเรียกที่นั้นว่า แพะเมืองผี ซึ่งหมายถึง ป่าละเมาะที่เงียบอย่างกับเมืองผี แพะหมายถึงป่าละเมาะ

เราเดินกันร้อนแฮ่กๆ มาได้เนินสูงนั่งรับลม ชม เสาทรายรูปร่างต่างๆ ก่อนที่จะย้ายก้น เดินกันกลับไปที่รถ

ต่อจากนั้น น้องกฤษฎาก็พาเราไปธาตุปุแจ ที่พระธาตุนี้กำลังมีการก่อสร้างโบสถ์ใหม่ เป็นโบสถ์ไม้ เราเห็นพระกำลังเป็นคนสร้าง คาดว่าอีกนานกว่าจะเสร็จเ พราะเห็นพระทำอยู่รูปเดียว ตามตำนาน

“ในสมัยที่พระโพธิ์สัตว์เสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทองได้ถูกนายพรานติดตามรอยเป็นเวลานาน เมื่อเดินทางมาถึงเขาลูกนี้เกิดอาการบาดเจ็บ ขัดเบา (อาการของโรคปัสสาวะไม่ออก)ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานาน 3 วัน จึงถึงแก่ความตาย การเกิดขัดเบา(อาการของโรคปัสสาวะไม่ออก) ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ปวดแจ

เมื่อพระโพธิ์สัตว์ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จมาเผยแพร่ธรรมให้ประชาชนถึงดอยม่วงคำ (อำเภอเมืองพะเยา)เสด็จ ตามรอยทางเดิมถึงเขาลูกนี้ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ซึ่งเสด็จตามจึงทูลถามว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่นี่ ก็ทรงตรัสเล่าถึงความหลังให้ฟังโดยตลอด พระอานนท์ก็ทูลขอว่าแห่งนี้ควรเป็นที่สักการะแห่งพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในกาลภายหน้าสืบไป พระพุทธเจ้าจึงพระราชทานเกศาเส้นหนึ่งให้แก่พระอานนท์ ณ บัดนั้นพระอินทร์ก็เนรมิตรผอบมารองรับบรรจุพระเกศาไว้ นำไปประดิษฐ์ในอุโมงค์เขาลูกนี้ และต่อมาได้สร้างพระธาตุปูแจ ไว้ให้ประชาชนได้กราบไว้สักการะบูชา”

เราออกกำลังโดยน้องชายตัวแสบวางยาให้เราเดินลงจากพระธาตุ แล้วก็ขับรถมารับ แถมยังจอดไกลให้พวกพี่ๆ เดินฝ่าแดด กลับขึ้นรถ แสบจริงๆ

จากนั้นน้องก็พาพวกเราไปกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวซอย น้องว่าเจ้าดัง คนมากินกันเยอะทีเดียว แต่ได้ยินว่าก๋วยเตี๋ยวง่ะงั้นๆ แถมน้องยังบอกอีกว่า ที่นี้เขามีวัฒนธรรมการกินก๋วยเตี๋ยวกับขนมครก ก้ประหลาดดี หรือพวกพี่ๆ โดนน้องตัวแสบหลอกอีกหรือเปล่าไม่รู้ ได้ยินว่าก๋วยเตี๋ยวที่นี้เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวเก็บเสียง หรือเจ้าของดุ เลยไม่มีใครกล้าว่าอะไร กลัวตาย

อีกเรื่องที่หนิงข้องใจมาหลายวัน หนิงได้ยินเพื่อนๆเรียกเจ้าน้องตัวแสบว่า Tony ถามจนได้รู้ว่า คุณน้องเธอมีชื่อฝรั่งว่า Tony แล้วก็ให้พี่ๆเรียกเพราะจะได้ไม่ซ้ำกับคุณพี่โต้ง น้องชายคนนี้ นอกจากขับรถแล้วเธอยังปล่อยมุกได้ตลอดเวลาอีกด้วย

เสร็จจากมื้อกลางวัน รถมุ่งตรงเข้าเมือง เพื่อซื้อของฝากตามคำขอของอุ๊ อุ๊หาของฝากที่บ้านอย่างหม้อฮ่อม เป็นการพิสูจน์ว่ามาแพร่จริง ไม่ได้ โกหก เหมือนชายหนุ่มทั้งหลายที่กระทำต่อมารดาในครั้งนี้ สาวๆลงไปซื้อๆ ซื้อ ซื้อ โดยเฉพาะแฝด กลับเข้ารถสุดท้าย ปล่อยให้หนุ่มๆ นั่งหลับบนรถ เสื้อหม้อฮ่อมที่นี้มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ใส่สบายไม่ร้อน

เหลือที่สุดท้ายเท่านั้นที่เราจะต้องไป คือพระธาตุช่อแฮ พระธาตุช่อแฮ เป็นพระอารามหลวง สร้างในสมัยสุโขทัย เป็นศิลปะแบบเชียงแสน สร้างตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท)ยังเป็นมหาอุปราชอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัยอยู่เลย

เรื่องตำนานของพระธาตุช่อแฮมีหลายตำนานมาก จะเล่าให้ฟังสักเรื่อง

“ตำนานพระธาตุช่อแฮอีกทางหนึ่ง กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ประทับ ณ ดอยโกสิยธชัคคะบรรต ขณะนั้นเจ้าลาวนาม ว่า ขุนลั๊วะอ้ายก้อม ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่ดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิหารย์ให้ขุนลั๊วะอ้ายก้อมเห็นและประทานพระบรมสารีริก ธาตุ (พระเกศาธาตุ) เป็นที่ระลึก โดยเอาเส้นผมพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลั๊วะอ้ายก้อมแล้วรับสั่งให้เอาไปไว้ ในถ้ำที่อยู่ใกล้ ๆ และรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกข้างซ้าย มาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว 218 ปี สมเด็จพระเจ้าอโศกมหาราชและ พระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมอธิษฐาน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้น ให้ไปสถิตย์อยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งไว้ เมื่อสิ้นคำอธิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้ง ปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา”

เรื่องก้เป็นประมาณนี้ จะเปลี่ยนแปลงก็ตรงรายละเอียด หลังจากพวกเราดื่มดำกับการไหว้พระขอพร และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์กลับบ้านแล้ว เราก็ได้กำหนดเวลาที่จะต้องเดินทางกลับ การท่องเที่ยวของพวกเราใกล้จบลงแล้ว

รถมุ่งหน้าตรงเข้ากรุงเทพมหานคร หลายคนเหนื่อยจากการเดินทาง คอหัตอห้อยหลับไปตามๆกัน

ก่อนถึงบ้านเราแวะหาข้าวทานกันก่อนถึงกรุงเทพ ไปได้กินข้าวต้มที่นครสวรรค์ ตามคำร้องขอของจารย์โบ้ที่ร่ำร้องมาตั้งแต่ยังไม่ได้ออกจากกรุงเทพ ร้านนี้มีทั้งไส้หมู เป้ดพะโล้ด้วย เรากินกันจนสำราญ ก็ตรงดิ่งเข้ากรุงเทพเลย ระหว่างทางกลับมีเสียคุยกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องผีสาง ที่คนขับรถอยากเล่านักหนา ในที่สุดพี่ๆก็ยอมฟัง

เราเข้ากรุงเทพประมาณ 4ทุ่ม โดยสวัสดิภาพ เสียงเงียบไปบ้างเพราะความเหนื่อยล้า แต่ความสุข สนุกสนาน ก็อยู่กับพวกเราตลอดทริปนี้

เรื่อง นางฟ้า

ภาพ นางฟ้า และเพื่อนๆ

รายละเอียดต่างๆ วิกิพีเดีย