วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ถนนสาย13... จากหลวงพระบางสู่เวียงจันทน์ตอนที่2 1ขีดที่หลวงพระบาง



-->            ถนนสาย 13…จากหลวงพระบางสู่เวียงจันทน์ตอนที่2   1ขีดที่หลวงพระบาง


หลังจากนอนหลับกันเป็นตายมา1คืน กับศึกแรกในการปั่นผ่านด่านน่านสู่หลวงพระบาง  พวกเราลงความเห็นกันว่าถนนช่วงจากด่านผ่านเมืองเงินมาที่ปากแบงมันช่างชันอะไรอย่างนี้  น่าจะเป็นการตัดถนนของช่างชาวไทย  และก็จริงอย่างคาดเมื่อพี่วัชยืนยันว่าถนนช่วงนั้น บริษัทชาติไทยรับสัมประทาน การตัดถนนจึงไม่คำนึงถึงองศาการทำถนน  ต่างจากถนนที่จีน หรือฝรั่งเศสตัดทิ้งไว้ในอดีต  องศาการชันไม่มาก เพราะใช้วิธิอ้อมเขาเอา ซึ่งทำให้การปั่นจักรยานราบรื่นกว่าถนนของชาวไทยมาก

แต่นอกจากถนนที่ชันสาหัสที่เราเจอมาวันแรก  พี่แอนเสนอว่าเราควรกลับมาปั่นเส้นเดิมกันอีกครั้ง  แต่คราวนี้ปั่นไปปลูกต้นไม้ข้างทางไป เพื่อว่าในอนาคต หากใครไปมาบนถนนเส้นนี้ จะได้มีที่หลบแดดมากกว่าจะไปหาหลบใต้หญ้าคากันอีก หรือเราควรปลูกหญ้าคาให้มันหนักกว่านี้ จะได้หลบอยู่ใต้ใบมากกว่า10ใบ

บ้านเรือนที่ถูกอนุรักษ์ไว้
ข้าวเหนียวและกล้วย ขนมสำหรับใส่บาตรยามเช้า
เช้านี้ พวกเราหลายคนตื่นแต่เช้าเพื่อไปตักบาตรข้าวเหนียว หนิงจัดการสั่งจองข้าวเหนียวให้คนละกระติ๊บ แถมด้วยพี่ๆหลายคนจัดขนมลูกอมมาใส่บาตรให้เณรน้อยอีกด้วย  พูดถึงวัฒนธรรมในการตักบาตรของชาวลาวแล้ว มีความแตกต่างกับชาวไทยพอสมควร  คนที่นี้จะใส่แต่ปั้นข้าวเหนียวลงบาตรพระ  ไม่ใส่กับข้าวคาวหวานเหมือนคนไทย และไม่มีการให้พรเมื่อใส่บาตรเสร็จ  พระที่นี้จะเดินยาวเป็นแถว  มาจากหลายวัดในเมืองหลวงพระบาง หลังจากชาวบ้านใส่ข้าวเหนียวจนเสร็จ หากมีข้าวเหนียวเหลือจากการใส่บาตร ก็ปั้นเป็นก้อนๆวางบนกำแพงวัด เป็นทานกันสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้น ส่วนกับข้าว ชาวบ้านจะนำไปถวายพระที่วัดก่อนที่พระจะฉันมื้อเช้า การใส่บาตรที่นี้ต้องมีสไบห่ม เป็นประเพณีของแม่หญิงลาวที่สืบต่อมา  พวกเราแม่หญิงชาวไทย ได้รับแจกกันคนละผืนห่มแล้วก็ดูดีทีเดียว

หลังการใส่บาตรเสร็จ พวกเราก็ไปทานอาหารเช้าที่โรงแรม เขาจัดให้เรากินกันริมโขง แต่โดยปรกติ ทัวร์คนไทยนิยมไปทานอาหารเช้าที่ร้านประชานิยม ซึ่งไม่ห่างจากที่พักเราไปเท่าไหร่  ร้านนี้มีทั้งโจ๊ก เฝอ ขนมปังฝรั่งเศส ชา กาแฟ เป็นที่ถูกใจชาวไทยทั้งรสชาติ และความหลากหลายของอาหาร

สิ่งหนึ่งที่พวกเรามักไม่พลาดเมื่อข้ามฝั่งจากไทยมาเสมอคือ เฝอ ทั้งที่เฝอในสายตาของหนิงคือก๋วยเตี๋ยวน้ำใสแบบบ้านเราดีๆนี้เอง เพียงแต่ที่นี้จะใส่ผักลงไปเยอะ และผักที่หลวงพระบางอร่อยมาก ทั้งที่หน้าตาดูไม่สวยงาม  แต่ด้วยความที่ไม่ได้ใส่สารเคมีต่างๆ ความสดกรอบของผักมีอยู่มากมายขนาดเคี้ยวๆไปยังได้รู้สึกถึงความสดนั้นเลย
แต่อาหารจานโปรดที่ทุกครั้งหนิงมักจะสั่งเสมอคือข้าวซอย  แต่หนิงจะสั่งแบบแห้ง รสชาติเข้มข้น  ข้าวซอยลาวต่างกับข้าวซอยไทยอย่างสิ้นเชิง หนิงว่ามันคล้ายน้ำพริกอ่องผสมน้ำเงี้ยวอย่างไงบอกไม่ถูก  รสชาติที่เข้มข้น เมื่อใส่ผักลงไป คลุกให้ทั่ว มันจะอร่อยพอดีแบบไม่ต้องปรุง
สบายๆที่โรงแรม

ทั้งเฝอทั้งข้าวซอย เราได้มีโอกาสทานเป็นมื้อสายๆหลังจากออกจากวัดเชียงทอง เป็นร้านอร่อยที่คนท้องถิ่นนิยม และเป็นร้านที่ครั้งหนึ่ง หนิงได้บังเอิญมาทานเมื่อหลายปีก่อน  ตอนที่มาเยือนหลวงพระบางครั้งแรก ร้านนี้ชื่อร้านส้มจันทร์ อยู่ตรงข้ามวัดแสน  ร้านนี้เปิดมา30ปีแล้ว ถ้าเห็นหม้อที่ป้าเขาใช้ ก็จะรู้ว่าร้านเก่าแก่จริง ตอนแรกพวกเราจะกินกันตอนเที่ยง แต่พอเดินผ่าน เจ้าของร้านบอก 11โมงก็หมดแล้วจ้า  เป็นเหตุให้พวกเราตกลงกินกันเลย  และก็เป็นจริงอย่างป้าว่า พอ11โมงกว่า ป้าก็ขึ้นป้านว่าหมดแล้ว พูดถึงเฝอต่อ กินเฝอที่นี้ เครื่องปรุงมากมายกว่าบ้านเรา นอกจากเครื่องปรุงพื้นฐานแล้ว ยังมีกะปิอีกด้วย พี่โม่ลองละลายลงในเฝอ ก็ได้ความว่าอร่อยดีเหมือนกัน  แต่คงไม่ใส่กันเยอะเป็นแน่  ไม่งั้นรสคงเข้มเค็มพิลึก  ร้านนี้นอกจากอาหารอร่อย  น้ำผลไม้คั้นสดยังอร่อย  น้ำที่ว่าคือน้ำส้มเช้ง  อร่อยมาก เพราะคั้นทีละแก้ว  ไม่เหมือนบ้านเรา สั่งปุ๊บมาปั๊บ แบบผสมไว้แล้ว  บ้านเรากินน้ำผลไม้แล้วไม่สดชื่น ปรุงแต่งเยอะไปหน่อย  อันนี้สั่งน้ำส้มเช้ง  ต้องนั่งเตร็งเตร๊งไปอีกพักใหญ่  แต่พอดื่มไปอึกแรก  แหมมันชื่นใจซะนี้กระไร  เล่นเอาพวกเราสั่งกันคนละแก้ว เรียกว่าสั่งจนหมดร้านกันเลย  น้ำอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือน้ำมะนาว มันก็อีหรอบเดียวกันคือ ของมันสด ไม่ได้เจือปนปรุงแต่งแต่อย่างใด เรานั่งรอการมาของเธอ  พอมาถึงอึกแรกก็ชื่นใจ  เรียกว่าการกินที่หลวงพระบาง เป็นการกินที่อุดมไปด้วยรสชาติและคุณภาพมากมาย

พูดเรื่องกินมาพอหอมปากหอมคอ มาดูที่เที่ยวของหลวงพระบางดีกว่า  หนิงมีแผนการณ์มากมายที่จะพาพี่ๆเที่ยว  แต่ด้วยว่าหลวงพระบาง1ขีดคงไม่พอเป็นแน่ เลยเลือกเฉพาะที่สำคัญๆ  ที่พลาดไม่ได้แน่คือวัดที่มีความสำคัญมายาวนานต่อหลวงพระบาง
วัดหลวงเชียงทอง
วัดหลวงเชียงทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงไกลจากปากน้ำคานลงทางใต้ประมาณ 300 เมตร ถือเป็นวัดเก่าแก่และโดดเด่นที่สุดบนแผ่นดินลาว เป็นประตูเมืองหลวงพระบาง และเป็นท่าเทียบเรือของกษัตริย์ทุกยุคทุกสมัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีฐานะเป็นวัดหลวง แต่ประชาชนสามารถเข้าไหว้พระในพระอารามได้ โดยไม่มีการปิดกั้นแยกเจ้าแยกราษฎร์ออกจากกัน ในวัดมีสถาปัตยกรรมแบบหลวงพระบางที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดหลายอย่าง เช่น อารามแบบสถาปัตยกรรมล้านช้างขนานแท้ หอไหว้ หอราชโกศพระเจ้าสีสะหว่างวงศ์ หอกลอง และองค์เจดีย์เป็นต้น



เมื่อปี พ.ศ. 2428 สมัยที่โจรฮ่อธงดำก่อกบฏบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ทัพฮ่อนั้นนำโดย คำฮูมลูกเจ้าเมืองไล ได้ยึดเอาวัดเชียงทองเป็นที่ตั้งค่าย เนื่องจากว่าคำฮูมนั้นเคยบวชเป็นจัว (เณร) อยู่ที่วัดนี้ จึงรู้จักเส้นทางในเมือง และชัยภูมิของแถบบ้านเชียงทองเป็นอย่างดี พวกโจรฮ่อเผาทำลายเมืองหลวงพระบางทั้งหมด ยกเว้นที่วัดเชียงทองแห่งเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในศึกครั้งนั้น ชาวลาวว่าเป็นเพราะคำฮูมรู้สำนึกบุญคุณวัดเชียงทองสมัยที่มาบวชเรียนอยู่จึง เว้นไม่เผา แต่บางคนก็ว่ากองทัพฮ่อใช้วัดเชียงทองเป็นที่ตั้งค่ายจึงไม่ได้เผาทิ้ง

โบสถ์หรือสิมวัดเชียงทอง
ที่สำคัญอีกอย่างของวัด คือโบสถ์ หรือสิมที่วัดหลวงเชียงทอง  วัดนี้ถูกยกย่องให้เป็นวัดที่สวยที่สุดในหลวงพระบางและเป็นศิลปะแบบหลวงพระบาง หลังคาแอ่นโค้ง ลดหลั่นกัน3ชั้น โบสถ์ที่นี้มีช่อฟ้าถึง 17ช่อ ซึ่งหมายถึงผู้สร้างเป็นกษัตริย์ เพราะคนธรรมดาสร้างวัดจะมีช่อฟ้าแค่เพียง 1-7ช่อเท่านั้น ตรงกลางช่อฟ้าจะมีช่องเหลียมๆเล็กๆ เชื่อกันว่ามีของมีค่าซุกซ่อนอยู่ในนั้น  ส่วนที่ประดับที่ยอดหน้าบันชาวลาวเรียกว่าโหง่ มีรูปร่างเป็นเศียรนาคและมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ประตูพระอุโบสถแกะสลักสวยงามเช่นเดียวกับหน้าต่างภายในพระอุโบสถมีภาพสวยงาม ที่ผนัง มีลักษณะลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติเรื่องพระสุธน – มโนราห์ และเรื่องพระเจ้าสิบชาติ

เท่าที่หนิงเคยอ่านหนังสือเจอ สถาปัตยกรรมแบบนี้มีให้เห็นในภาคอีสานบ้านเรา  แต่ความงดงามสู้ไม่ได้กับที่วัดแห่งนี้เลย

พี่ไก่มาคู่พี่ก้อย
พ่อหมูมากับแม่หมี
นอกจากสิมแล้ว ยังมีวิหารน้อยอีก2หลัง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากสิมเท่าไหร
วิหารน้อย ด้านข้างและ ด้านหลังของพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของวิหารสองหลังนี้ จุดเด่นของวิหารนี้คือผนังด้านนอกมีการตกแต่งด้วยกระจกสี ตัดเป็นชิ้นเล็กๆและนำมาต่อเป็นรูปต่างๆเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานพื้น บ้าน บนพื้นสีชมพู ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปนี้เคยถูกนำไปจักแสดงที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2474 และนำไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์หลายสิบปี ก่อนจะนำมายังหลวงพระบางในปี พ.ศ.2507 ที่วิหารน้อยนี้เอง พี่หมู หนิง พี่ก้อย ได้ทำการเสี่ยงทายในการยกพระ  พี่หมูอธิษฐานแล้วยกก่อน ยกลอยท่วมหัวทีเดียว  หนิงเป็นคนต่อมา อธิษฐานเสร็จแล้วยก  ยกไม่ขึ้นคะ  ตอนแรกใจเสียเลย  เสียงพี่หมีบอกให้ยกอีกรอบ  คราวนี้คนรอบข้างเงียบกริบ  หนิงตั้งใจอีกรอบแล้วยก ถึงจะไม่ท่วมหัว  แต่ก็ลอยจากพื้นมาได้สักคืบ คราวนี้ตาพี่ก้อย  พี่ก้อยตั้งใจแนวแน่ ว่าแล้วก็ยก พระท่านเหมือนติดกาวไว้กับพื้นยังไงอย่างนั้น พี่ก้อยขออีกรอบ  แล้วก็เหมือนเดิม  เอาแล้วสิ พี่ก้อยขออะไรนะ  หนิงแอบถามพี่หมู พี่หมูบอกว่าขอให้ได้เกษียณอายุ60จากบริษัท  หนิงเลยถามว่าอีกกี่ปีพี่  พี่หมูว่าอีก6ปี  หนิงถึงกับเฮ  อย่างน้อยบริษัทน่าจะมีอายุยืนต่อไปอีก6ปี 555 ส่วนคำขอของหนิง  หนิงขอให้ทุกคนเดินทางโดยปลอดภัย   ตอนแรกที่ยกไม่ขึ้น ถึงกับใจเสีย  แต่ตอนยกขึ้นรอบสอง ในใจก็คิดว่า คงมีเหตุเล็กๆน้อยๆเป็นแน่  ส่วนพี่ก้อย หนิงแอบถามว่าขออะไร  พี่ก้อยหัวเราะเบาๆแล้วบอกว่า ขอเจอเนื้อคู่  แต่ถึงพี่ก้อยจะไม่ได้เจอชาตินี้ก็ตาม  พี่ก้อยก็บอกหนิงภายหลังว่า ชาติหน้าอาจได้เจอ  เพราะที่อธิษฐานนั้น ขอแค่ชาตินี้เท่านั้น  นี้แหละคือแรงผลักดันที่ทำให้พี่ก้อยไม่เคยท้อถอยท้อแท้้เลยสักครั้ง555

ลวดลายวิจิตรบรรจงที่บานประตูสิมวัดเชียงทอง
 ส่วนวิหารอีกหลังที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถคือ วิหารพระม่าน ผนังวิหารด้านนอกมีลักษณะคล้ายกับวิหารองค์แรก ภายในวิหารนี้ประดิษฐาน พระม่าน ในช่วงวันขึ้นปีใหม่จะมีการอันเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำและกราบไหว้เป็นประจำ ทุกปี ผนังด้านหลังวิหารทาด้วยสีชมพูประดับด้วยกระจกสีแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน สร้างขึ้นใน พ.ศ.2493 เพื่อเฉลิมฉลองที่โลกก้าวสู่ยุคกึ่งพระพุทธกาล
ด้านหลังของวิหารพระม่านจะเป็นพระธาตุศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้ามหาศรีสว่างวงศ์และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโขงเรือใกล้กับริมแม่น้ำโขง ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งหอกลองมีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม

คู่หลังหรือคู่หน้า  คู่ไหนหวานกว่ากัน
นอกจากนี้ยังมีโรงเก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2505 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ลักษณะเป็นโถงกว้าง ผนังด้านหน้าตั้งแต่หน้าบันลงมาจนถึงพื้นสามารถถอดออกได้เพื่อให้สามารถ เคลื่อนราชรถออกมาได้
กลางโรงเมี้ยนโกศเป็นที่ตั้งราชรถไม้แกะสลักปิดทองคำเปลวรอบคัน มีพระโกศสามองค์ตรงกลางเป็นองค์ใหญ่ของเจ้าสว่างศรีวัฒนา ด้านหลังเป็นของพระราชมารดา ส่วนด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา โรงเก็บราชรถนี้ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ และใช้ช่างชาวหลวงพระบางชื่อ เพียตัน นับว่าเป็นช่างฝีมือดีประจำพระองค์ มีความชำนาญทั้งด้านงานเขียนและงานแกะสลัก 

ตรงโรงเก็บนี้ดูเหมือนพวกเราจะชื่นชอบกันเป็นพิเศษ เพราะว่าอากาศที่ถ่ายเท ทำให้เย็นสบายกว่าไปยืนตากแดดเป็นไหนๆ

พามาดูวัดเชียงทองกันจนทั่วแล้ว ก็อดที่จะเล่าให้ฟังไม่ได้ว่า เดิมทีชื่อนครเชียงทองก็คือชื่อเดิมของหลวงพระบาง  แต่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการอัญเชิญพระบางเพื่อมาประดิษฐานที่เมืองนี้  แต่ด้วยมีเหตุเกิดระหว่างอัญเชิญพระบาง  ทำให้พระบางต้องประดิษฐานที่เมืองเวียงคำแทน ต่อมาจึงสามารถอัญเชิญมายังนครเชียงทองได้ในภายหลัง ทำให้นครเชียงทองถูกเรียกว่าหลวงพระบางนับแต่นั้นมา

กับเสาที่บอกว่าเป็นมรดกโลกจาก Unesco
ภาคบ่ายหลังจากทุกคนกลับจากวัดและอิ่มท้องพอประมาณ บางคนก็หลับพักผ่อนยามบ่าย  บางคนก็ออกไปปั่นจักรยานเล่น หนิงกับพี่โม่ปั่นจักรยานเล่นรอบเมือง และที่เห็นว่าเมืองนี้สมควรเป็นเมืองมรดกโลกจริงๆเพราะว่าถึงเขาจะมีการก่อสร้างใหม่  แต่ก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบของเมืองเก่าเสียหายไป  เพราะแบบที่สร้างไม่แปลกแตกต่างจากของเดิม ส่วนเมืองใหม่ที่ขยายออกก็อยู่รอบนอก เป็นที่น่าสังเกตุว่า หลวงพระบางหรือลาวได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสอย่างมากมาย  โดยจะเห็นว่าป้ายๆต่างๆที่เป็นของราชการ จะถูกกำกับด้วยภาษาฝรั่งเศสเกือบทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นป้ายโรงเรียน หรือพิพิธภัณฑ์ เขาว่ากันว่า คนลาวรุ่นเก่า สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีทีเดียว แต่ก็น่าสนใจที่ในความเป็นเมืองขึ้น เขากลับยังรักษาประเพณีต่างๆไว้ ไม่ว่าการแต่งกาย หรือความเป็นอยู่ ได้ดีมากเสียกว่าคนไทย ที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร แต่แทบจะหาประเพณีและวัฒนธรรมไทยแท้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมืองใหญ่

มันทำให้หนิงคิดถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศที่หนิงชื่นชมมากกับการรักษาวัฒนธรรมของ เขาไว้อย่างดี นั้นคือพม่า ที่พม่า ผู้ชายและผู้หญิงประมาณ80%ยังแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำประเทศ  มันเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนภายนอกอยากเข้าไปดูใกล้ๆ

โรงเรียนประถมที่หน้าโรงเรียนเขียนบอกด้วยภาษาฝรั่งเศส
ตอนหนิงเด็กๆ ยังจำได้ว่าเห็นคุณยายบางคนนุ่งโจงกระเบนด้วยซ้ำ  น่ารักดี แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า เข้าห้องน้ำห้องท่าคงจะลำบากน่าดู แต่ตอนนี้จะเห็นคนเดินนุ่งซิ่นออกนอกบ้านก็ไม่มีให้เห็นแล้ว จะเห็นมากหน่อยก็คงการแต่งผ้าใหม่ในวันศุกร์ ในส่วนของราชการ เรื่องแต่งกายประจำชาติ  ครั้งหนึ่งบ้านเราฮิตการนุ่งซิ่นไหมของเก่ากันมาก แถมคาดเข็มขัดเงินของแท้เสียอีก  หนึ่งในนั้นมีแม่ของหนิงฮิตไปกับเขาด้วย  ทุกวันนี้ ผ้าซิ่นลายสวยๆของแม่ยังถูกเก็บไว้อย่างดี แต่ถ้าจะให้ดี น่ากลับเอามาใส่อีกคงจะดีไม่เบา

กลับมาเที่ยวหลวงพระบางกันต่อ  หลังจากหนิงกับพี่โม่สำรวจเมืองเสร็จ ไม่นานก็ได้เวลาที่พวกเราจะไปเที่ยวน้ำตกกัน บางคนไม่ได้ตามเรามา อย่างกิ๊ฟกับพี่บี๋ คู่สามีภรรยาคู่นี้เลยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์กัน2คน
น้ำตกที่ว่าชื่อน้ำตก กวงสี หรือกวางสี แล้วแต่จะออกเสียง กวงก็หมายถึงกวางนั้นเอง  เขาว่ากันว่าที่นี้เคยมีกวางอาศัยอยู่มากมาย  หนิงเสนอให้มาน้ำตก เพราะหนิงจำได้ว่าครั้งหนึ่งที่มาที่นี้น้ำตกสีสวยมาก ใส สะอาด
เราเลือกที่จะนั่งรถไป เพราะได้ยินว่าไป กลับก็60กิโล  เราเลยขอให้วันขีดของเราเป็นวันสบายๆ  ที่น้ำตกเราต้องเสียค่าเข้าคนละ80 บาท หนิงได้ยินพี่ไก่บ่นว่าจ่ายค่าเข้าแล้วต้องเที่ยวให้คุ้ม

น้ำตกกวงสี
ว่าแล้วพี่ไก่ก็เดินตัวปลิวนำลิ่วขึ้นไปเลย  เราใช้ทางลัดเพื่อที่จะขึ้นให้ถึงหน้าผาที่น้ำตกตกลงมา  กระแสน้ำแรง เพราะน้ำเยอะ ละอองน้ำฟุ้งไปหมด  พี่ไก่เดินข้ามสะพานนำลิ่วหายไปในป่า พวกเราเลยต้องเดินตาม และเมื่อรู้ตัวก็พบว่าเรากำลังปีนป่าย ไต่ขึ้นไปยังบริเวณต้นน้ำ ทางขึ้นดูไม่ยาก  แต่ขาลงน่ากลัวจะลำบาก มีนักท่องเที่ยวสวนเราลงไปหลายคน กว่าเราจะขึ้นถึง  พี่โม่ก็บ่นว่าขึ้นมาทำไมกัน  ก็นั้นสิขึ้นมาทำไม  ด้วยความที่น้ำเยอะ  เหมือนน้ำนองกระจายเต็มพื้นที่ชั้นบน เมื่อเดินเข้าไปหน่อย ก็จะพบแอ่งน้ำ  น้ำเย็นจับใจมาก  พี่ไก่ไม่พูดมาก หาที่วางของได้ ก็ลงไปลอยขอในแอ่งน้ำเลย  ตามไปติดๆก็พี่หมู พี่แอน น้าโทน และพี่หมี  สุดท้ายพี่ก้อยทนไม่ได้  ไปลอยคออยู่อีกคน  ส่วนที่เหลือ ขอยืนเอาเท้าแช่น้ำแทน รอจนพวกพี่ๆเล่นกันจนหน่ำใจ แถมมาบอกว่าจัดการปล่อยน้ำเสียทิ้งลงไปด้วย  ประมาณว่าเอาให้คุ้ม แล้วก็ขึ้นจากน้ำ  ขาลงอย่างที่บอก ดูจะลำบากมา  แต่ออยกลับลงไปอย่างว่องไว  ประมาณว่าเห็นฝรั่งตามหลังมา แล้วกลัวจะถูกแซงเลยรีบพรวดพลาดลงไปก่อน

หลังจากปีนลงมาอย่างปลอดภัยกันทุกคน  เราถึงได้รู้กันว่า เราไม่จำเป็นต้องปีนไปถึงขนาดนั้นเลย เพราะมีที่เล่นน้ำข้างล่างให้เราเล่นได้แสนจะสบาย  นักท่องเที่ยวฝรั่งมากันพอสมควร  ดูเขาช่างจะชอบกับการกระโดดน้ำเล่นมาก 

น้ำตกที่นี้มีการจัดการที่ดีกว่าบ้านเรามาก ทั้งเก้าอี้นั่ง ถังขยะ จุดเล่นน้ำ  เรียกว่าคิดก่อนทำทีเดียว ไม่มีร้านอาหารมาขายเกะกะ  แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ พวกขี้เมาที่ถือขวดเบียร์แล้วหาที่ทิ้งไม่ได้ หรือไม่มีความรับผิดชอบกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่เขาทำถังขยะให้เห็นเด่นชัด  สรุปง่ายๆว่า หนิงว่าน้ำตกเขาดีกว่าบ้านเรา

หลังจากสรุปอะไรง่ายๆแล้ว หนิงก็พาลคิดไปว่าเวลาเราดูถูกคนอื่นแล้วไปว่าเขาไอ้ลาวเห็นจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง  หนิงว่าน่าจะว่าเขาว่าไอ้ไทยดูจะเหมาะมากกว่า  เพราะหลายอย่างเท่าที่เห็น เขาทำได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยควรหันมามองตัวเองได้แล้ว

หลังจากกลับจากน้ำตก ตอนแรกว่าจะพาพี่ๆไปดูวิวพระอาทิตย์ตกที่ดอยพูสี  แต่พี่หลายคนตัวเปียกปอน เกรงจะป่วยได้ เลยบอกให้พี่ทองพากลับโรงแรมดีกว่า พูดถึงดอยพูสี เป็นดอยน้อยๆ เดินขึ้นไปได้ สูงไม่กี่ร้อยเมตร แต่จะเห็นวิวแม่น้ำโขง และจะเห็นพระอาทิตย์ตกสวยงามได้ บนนั้นนอกจากเป็นจุดชมวิวแล้ว ก็ยังมีพระธาตุจอมสีตั้งอยู่  จนพอเรียกกันไปเรียกกันมา เลยกลายเป็นพระธาตุพูสีไปซะงั้น

ความที่ยอดดอยไม่ได้สูงมากนัก  มีช่างถ่ายภาพหลายคน วิ่งขึ้นวิ่งลงเพื่อเก็บภาพมุมสูงของหลวงพระบาง โดยพี่ๆเขาใช้เวลาวิ่งขึ้นวิ่งลงในแต่ละครั้ง ครั้งละ5นาที  จะว่าไปแล้ว  น่าให้พี่ต๋องมาซ้อมวิ่งขึ้นลงตอนเช้า  น่าจะเหมาะมากสำหรับพี่ต๋อง

เย็นคล้อยมาเรื่อยๆ หนิงเลยพาสาวๆไปนั่งร้าน Joma ร้านของคนไทยที่ไปเปิดที่นั้น ก่อนที่จะไปทานอาหารเย็นกัน  เป็นที่น่าเสียดายอย่าง ที่ทริปนี้เราไม่ได้กินแจ่วบอง อาหารพื้นบ้านเมืองลาวอาหารอีกอย่างที่แนะนำ  แจ่วบองเป็นน้ำพริกของลาว มีส่วนผสมของพริกลาว ข่า สมุนไพร และบางตำรับใส่หนังควายเข้าไปด้วย จิ้มกับผักหรือข้าวเหนียว หรือบางทีก็จิ้มกับไคแผ่น หรือสาหร่ายน้ำจืดอาหารท้องถิ่นอีกเช่นกัน

พอใกล้เวลาอาหาร หนิงก็พาลอดนึกถึงอาหารที่อยากกินไม่ได้  แล้วเย็นนั้นหนิงก็พลาดจากแจ่วบอง ต้องมากินข้าวซอยแห้งอีกรอบ คราวนี้เรามีแคปหมูจากเมืองเหนือลงไปคลุกด้วย อร่อยหนักกว่าเดิมอีกหลายเท่า ในเวลานั้น โกจ้วงหรือพี่แอนโทนี่ ก็เดิมเอาตะเกียบมาคีบข้าวสอยของหนิงไปชิม พี่แกเล่นเดินชิมไปหมดของทุกคน  สุดท้ายก็ไปตกลงที่ก๋วยเดี๋ยวเป็ด  แล้วจะมาชิมของคนอื่นเขาทำไมแต่แรก สั่งก๋วยเตี๋ยวของตัวเองซะก็หมดเรื่อง

หลังอาหารพวกเราได้มาเดินย่อยกันที่ถนนคนเดินของหลวงพระบาง  ที่นี้ไม่ต่างจากปาย หรือเชียงใหม่เลย ไม่ว่าสินค้า หรือบรรยากาศ จะมีของพื้นบ้านอย่างยาดอง หรือผ้าทอที่แตกต่างไปบ้าง เราเดินย่อยพร้อมซื้อของติดไม้ติดมือก่อนที่จะกลับไปนอนพักผ่อน  เพราะวันรุ่งขึ้น จะเป็นศึกใหญ่ที่เราต้องไปให้ถึงให้ได้…กิ่วกะจำ

นางฟ้า